ประเทศไทยนำทีมขยายอุตสาหกรรมภาพยนตร์อาเซียนสู่นานาชาติ จัดงาน “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ 2564” (BAFF 2021) วันที่ 8-13 ธ.ค.นี้ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

Last updated: 7 ธ.ค. 2564  |  1283 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประเทศไทยนำทีมขยายอุตสาหกรรมภาพยนตร์อาเซียนสู่นานาชาติ  จัดงาน “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ  2564” (BAFF 2021) วันที่ 8-13 ธ.ค.นี้  ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ประเทศไทยนำทีมขยายอุตสาหกรรมภาพยนตร์อาเซียนสู่นานาชาติ จัดงาน “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ 2564” (BAFF 2021) วันที่ 8-13 ธ.ค.นี้ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

วันที่ 2 ธันวาคม 2564 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2564” โดยมีนายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม น.ส.พิมพกา โตวิระ Programming Director ของเทศกาลภาพยนตร์ฯ นายอาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้อำนวยการกองทุน Purin Pictures และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)

นายอิทธิพล กล่าวว่า วธ. มีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและขยายตลาดภาพยนตร์อาเซียนสู่ระดับนานาชาติ รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระดับแนวหน้าของเอเชียตามหมุดหมายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ดังนั้น วธ.ได้บูรณาการความร่วมมือกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หน่วยงานรัฐและเอกชน จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2564 (Bangkok Asean Film festival 2021) ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 8-13 ธันวาคม 2564 ณ โรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ โดยมีพิธีเปิดงานในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ณ โรงภาพยนตร์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า กรุงเทพฯ และพิธีประกาศรางวัลและปิดงานในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ณ โรงภาพยนตร์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า งานเทศกาลภาพยนตร์ฯได้เติบโตและได้รับการยอมรับจากเครือข่ายอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่มีความน่าสนใจในปฏิทินการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับสากล รวมทั้งมีการปรับเพิ่มกิจกรรมภายในงานเทศกาลภาพยนตร์ฯ ให้มีความน่าสนใจทั้งสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และประชาชนทั่วไปที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ต่างประเทศที่หาดูได้ยาก ประกอบด้วย

(1) ฉายภาพยนตร์อาเซียนฉายโชว์ เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวคุณภาพ 12 เรื่อง คัดเลือกภาพยนตร์คุณภาพการันตีรางวัลจากประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเทศภาคีความร่วมมือในทวีปเอเชีย(จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย)ที่สร้างขึ้นไม่เกิน ปี 2563 และมีคุณค่าได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมฉาย ประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ หรือได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดทั่วโลก

(2) จัดฉายภาพยนตร์ของสายการประกวดภาพยนตร์สั้นอาเซียน 14 เรื่อง จากผู้เข้าประกวดกว่า 200 เรื่อง พิจารณาตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งไทยและต่างประเทศ มีรางวัล ได้แก่ 1. BEST ASEAN SHORT FILM ได้รับโล่รางวัล และเงินสด 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐ 2. JURY PRIZE ได้รับโล่รางวัลและเงินสด 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ 3. SPECIAL MENTION ผู้ได้รับโล่รางวัล และเงินสด 500 ดอลล่าร์สหรัฐ

(3) ฉายภาพยนตร์สั้นฉายโชว์ BAFF SHORT FILM SHOWCASE+ Asia Content Business Summit (ACBS) (PROJECT 19) เป็นการฉายภาพยนตร์สั้นที่โดดเด่นจากเวทีนานาชาติจำนวน 3 เรื่อง และจากโครงการของภาคีความร่วมมือ ACBS จำนวน 3 เรื่อง

(4) จัดฉายภาพยนตร์อาเซียนทรงคุณค่า (ASEAN Classic) 3 เรื่องจากไทย, เมียนมา และเกาหลีใต้ที่คัดสรรมาให้ชมโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ทั้งนี้ การจัดฉายภาพยนตร์ฯ มีบทบรรยายภาษาไทย-อังกฤษ เข้าชมฟรีทุกเรื่องทุกรอบ ติดตามข้อมูลได้ที่ www.facebook.com/ BangkokAseanFilmFestival และเว็บไซต์ www.baff.go.th

นอกจากนี้ มีกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การประกวดโครงการภาพยนตร์ขนาดยาวอาเซียน(South East Asia Project Pitch หรือ SEAPITCH) ที่มีผู้สมัครกว่า 50 โครงการและคัดเลือกเหลือ 8 โครงการ โดยผู้ผลิตจากภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวคิดในการผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโครงการที่ผ่านการคัดเลือก ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ได้เข้าอบรมพิเศษออนไลน์ด้านการนำเสนอโปรเจกต์กับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ 2 ครั้ง เพื่อเตรียมตัวนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติและมอบรางวัลให้ผู้ชนะ 3 รางวัล ได้แก่ 1. SEAPITCH Award ได้รับโล่รางวัลและเงินสด 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐ 2. Runner-Up Prize ได้รับโล่รางวัล และเงินสด 3,000 ดอลล่าร์สหรัฐ 3. SPECIAL MENTION ได้รับโล่รางวัลและเงินสด 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐและสัมมนาด้านภาพยนตร์โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและนานาชาติ ในหัวข้อ ”IS ASEAN CONTENT READY TO TAKE ON THE WORLD?” และการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระดับนานาชาติของ ACBS (Asia Content Business Summit 2021) ในหัวข้อ “Going Virtual” อีกทั้งยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อปด้านภาพยนตร์ Short Film Camp 2021 จัดโดยกองทุน Purin Pictures ซึ่งร่วมมือจัดกิจกรรมกับเทศกาลภาพยนตร์ฯมาต่อเนื่องทุกปี

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยโดยวธ.ได้ริเริ่มจัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2558 และต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 7 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลเพื่อผลักดันใช้ “Soft Power”ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยเฉพาะด้านภาพยนตร์ทั้งในส่วนของประเทศไทยและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเผยแพร่สู่ระดับนานาชาติและการ จัดงานปีนี้นอกจากจะตอกย้ำ และประกาศศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์อาเซียนและชาติภาคีเอเชียในเวทีโลกแล้ว วธ.ขอส่งมอบความสุขให้กับชุมชนคนรักการชมภาพยนตร์และประชาชนทุกคนภายหลังจากการเปิดประเทศจากที่ต้องล็อคดาวน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้การชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ได้เริ่มกลับมาให้บริการ พร้อมเป็นสถานที่สร้างความสุขและความสบายใจให้กับทุกคนในการเข้าไปชมภาพยนตร์ให้กับคนรักภาพยนตร์เหมือนเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้